ADVANCESEARCH

นิทรรศการอาหาร #กินอะไรดี

04.07.2565
2,328
Share

นิทรรศการ กินอะไรดี (What the Food) รูปแบบ Trail Exhibition

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า พฤติกรรมการบริโภคของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ที่สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยกำลังขาดความมั่นคงทางอาหาร และเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs: Non-communicable diseases) ในระยะยาว เพราะการเลือกกินส่งผลตรงต่อสุขภาพ เหมือนกับคำที่ว่า ‘กินอย่างไร ได้อย่างนั้น’

แล้วจะเป็นอย่างไร ? หากเราเผลอกินอาหารที่ไม่ปลอดภัยเข้าไปโดยไม่รู้ตัว หรือรู้ไม่เท่าถึงว่าความจริงแล้ว ‘อาหารปลอดภัย’ คืออะไร และอาหารไม่ปลอดภัยคือแบบไหน เพราะทุกครั้งที่หิว เราก็จะถามกันว่า กินอะไรดี? แน่นอนว่าเราก็คงเลือกกินอาหารอร่อยสิถึงจะดี แต่อาหารที่อร่อยนั้นจะใช่อาหารที่ดีกับเราจริงหรือเปล่า…

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (สสส.) ขอเชิญชวนทุกคนสำรวจเส้นทางอาหารปลอดภัยกับนิทรรศการ ‘กินอะไรดี’ (What the Food) จัดขึ้นในรูปแบบ Trail Exhibition สุดทันสมัย ที่ใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง หรือ AR มาสื่อสารข้อมูลความรู้ได้อย่างน่าสนใจ ภายใต้แนวคิด ‘Food Installation Art – ในหัวข้อกินอะไรดี’ ผ่านการ Display โต๊ะอาหารในรูปแบบ Art Installation เพื่อให้ความรู้ ความเพลิดเพลิน และสร้างความตระหนักถึงความปลอดภัย ไปกับ 3 แนวคิด ได้แก่

 

1. มีอะไรในอาหาร ขยายมุมมองของอาหารให้กว้างขึ้นกว่าความอร่อยที่อาจแฝงไปด้วยอันตรายที่คุณคาดไม่ถึง

ทั้งสิ่งปลอมปนในอาหาร ชิ้นส่วนหรือสิ่งของซึ่งไม่ใช่อาหาร ที่ปะปนเข้ามาในระหว่างหรือหลังกระบวนการผลิต โดยบังเอิญหรือตั้งใจ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

สารปนเปื้อน เป็นสิ่งที่ติดมาในอาหาร โดยที่ผู้ผลิตไม่ได้ตั้งใจใส่สารนั้นในอาหารโดยตรง แต่อาจมาจากสิ่งแวดล้อมหรือจากอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตอาหาร หรือเป็นการที่เกิดปฏิกิริยาระหว่างผลิตอาหาร หรือจากภาชนะบรรจุ เป็นต้น

และสารเจือปนอาหาร เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตตั้งใจเติมในอาหารโดยตรง เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น การใส่สารกันบูด การใส่สีสังเคราะห์ การเติมสารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล เป็นต้น โดยจะต้องใช้ตามชนิดที่กำหนดและมีปริมาณอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย

 

ตายผ่อนส่ง 

การกินอาหารที่ไม่ปลอดภัยเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากสารเคมีตกค้างจากอาหารในระยะแรก อาจจะยังไม่เห็นผลทันทีทันใด แต่หากกินไปเรื่อย ๆ ได้รับสารพิษสะสมอย่างต่อเนื่อง จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว และนำไปสู่โรค NCDs ซึ่งเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

 

2. สารตกค้างมาจากไหน สำรวจเส้นทางแหล่งที่มาของเมนูผักและเนื้อสัตว์ต่างๆ ก่อนจะมาเป็นอาหารจานโปรดของคุณ

 

ในผักมีอะไร เราสามารถเลือกซื้อผักที่ปลอดภัยโดยดูจากเครื่องหมายรับรองมาตรฐานหรือที่มาของการผลิต เช่น ผักอนามัย ผักเกษตรอินทรีย์ หรือเลือกซื้อจากร้าน/ตลาดเขียว แหล่งที่ไว้ใจได้ แต่ซื้อจากที่ไหนก็ไม่ปลอดภัย 100% ควรระมัดระวังสารตกค้างที่มากับผัก และทำความสะอาดให้ดีก่อนรับประทาน

ผักปลอดสารพิษ

  • ผักปลอดสารพิษอาจมีสารเคมีตกค้างจากการเพาะปลูก
  • เมล็ดพันธุ์อาจถูกตัดต่อทางพันธุกรรม (GMO) ก่อนนำมาปลูก และอาจมีการใช้ปุ๋ยเคมีเร่งโต
  • กินได้ในระดับที่ปลอดภัย หากมีการควบคุมไม่ให้สารเคมีตกค้างในผลผลิตเกินปริมาณที่กำหนด

ผักปลอดภัย

  • ผักที่ผ่านระบบรับรองมาตรฐาน GMP และ HACCP ซึ่งสามารถตรวจสอบถึงที่มาที่ไปของผักชนิดนั้นได้
  • แหล่งผลิตสามารถตรวจสอบได้ว่ามีการจัดการเรื่องดินและน้ำอย่างเหมาะสม มีการคัดสรรเมล็ดพันธุ์และควบคุมสารเคมี โรคและแมลง ดูแลรักษา ปรับปรุงให้อยู่ในมาตรฐาน ห่างไกลการปนเปื้อนตลอดกระบวนการ
  • ที่สำคัญคือกระบวนการขนส่ง สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการดูแลให้ปลอดภัยจากการปนเปื้อนตั้งฟาร์มจนถึงไปจนถึงปลายทาง

ผักออร์แกนิก

  • ผักที่มีความเป็นธรรมชาติสูงมาก เพราะไม่มีการใช้สารเคมีใด ๆ ในการเพาะปลูก
  • ปลูกโดยดัดแปลงสภาพการเพาะปลูกเลียนแบบธรรมชาติ เพื่อให้พืชผักเจริญเติบโตได้ด้วยวิธีแบบธรรมชาติ โดยอาหารจากธรรมชาติ ซึ่งจะใช้เวลานานกว่าการเร่งโต
  • บรรจุภัณฑ์มักจะมีเครื่องหมาย Organic Thailand หรือ มาตรฐาน เกษตรอินทรีย์ (มกท.) ‘IFOAM Accredited’

 

การกินผักตามฤดูกาล มีศัตรูธรรมชาติน้อย ช่วยลดความเสี่ยงจากสารเคมี ยาฆ่าแมลง มีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์สมบูรณ์กว่าผักนอกฤดูกาล ได้ผักที่มีสารอาหารครบสมบูรณ์ สดใหม่ หาซื้อง่าย และราคาถูก

 

ในเนื้อสัตว์มีอะไร เนื้อสีสดน่ากินนั้นอาจแฝงด้วยสารพิษตกค้าง หากร่างกายได้รับอย่างต่อเนื่องในปริมาณหนึ่ง อาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต ควรซื้อเนื้อสัตว์จากแหล่งที่ไว้ใจได้ หรือผ่านมาตรฐานการรับรองจากกรมปศุสัตว์ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่เลือกซื้อไปปลอดสารเร่งเนื้อแดง และปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะและสารตกค้างต่าง ๆ

 

3. ฉลาดเลือกฉลาดซื้อ รู้จักวิธีเลือกซื้อ เลือกกิน พร้อมเคล็ดลับการเตรียมและเก็บอาหารให้ปลอดภัย ที่นอกจากดีต่อสุขภาพแล้วยังเป็นคำตอบของการกินอะไรดีต่อตัวคุณและคนรอบข้างอีกด้วย

 

จะถูกหรือแพงก็เสี่ยงเหมือนกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นอาหารจากที่ไหน ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าปลอดภัย 100% เมนูเดียวกัน จากร้านบนถนน จนถึงภัตตาคารหรู ก็มีสิทธิ์มีสารพิษตกค้างได้เท่า ๆ กัน

 

เลือกได้เลือกดี สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง เมื่อรับประทานอาหารนอกบ้าน ซื้ออาหารปรุงสำเร็จ หรือสั่งจากร้านอาหาร คือความสะอาดของอาหาร ทั้งอร่อยและปลอดภัยได้ ใส่ใจเพิ่มอีกนิด ด้วยการมองหาตราสัญลักษณ์รับรองความสะอาดปลอดภัยของร้านอาหาร เพิ่มความมั่นใจในการเลือกซื้อ

 

        

ภาพตราสัญลักษณ์และเครื่องหมาย SHA

 

ฉลาดเลือกฉลาดซื้อ ช่างเลือก ดีกว่าไม่เลือก เลือกซื้อยังไงให้ได้ของดี ของสด สะอาด ในราคาที่คุ้มค่า

  • เลือกซื้ออาหารที่มีอยู่ในท้องถิ่น ขนส่งระยะทางใกล้ ได้ของสด คุณภาพดี
  • เลือกซื้ออาหารตามฤดูกาล ได้ผักผลไม้สด รสชาติดี มีคุณภาพ หาซื้อได้ง่าย
  • เลือกซื้ออาหารโดยเน้นที่ความสะอาดปลอดภัย ใช้ตาดู ใช้จมูกดม และสังเกตมากขึ้นอีกนิด

 

ล้าง หั่น ปรุง อาหารปลอดภัย ทำอาหารกินเองน่าจะปลอดภัยมากที่สุด เราทำได้ ถ้าใส่ใจความสะอาดทุกขั้นตอน ล้างให้ถูกวิธี หั่นให้แยกเขียง ปรุงให้สุก เพียงเท่านี้ก็ได้อาหารปลอดภัย ถูกใจทุกคนแล้ว

 

เก็บของเก็บใจไปหาเธอ

  • การจัดเก็บอาหารอย่างถูกวิธี ในช่องอุณหภูมิที่เหมาะสม จะช่วยคงความสดและรักษาคุณค่าสารอาหารไว้ได้ยาวนาน
  • ตู้เย็นจะช่วยยืดอายุ ชะลอให้อาหารต่าง ๆ เน่าเสียช้าลงได้ แต่ตู้เย็นไม่ใช่ตู้วิเศษ ของในตู้เย็นไม่ได้เป็นอมตะ ระยะเวลาการเก็บอาหารยิ่งนาน คุณค่าทางอาหารก็ยิ่งลดลง
  • จัดระเบียบตู้เย็นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ช่วยให้ตู้เย็นทำงานได้ดีอยู่เสมอ

 

ดาวน์โหลดคู่มือเพื่อศึกษาเพิ่มเติม

แล้วคำว่า ‘กินอะไรดี’ ของคุณ จะมีความหมายมากขึ้นกว่าเดิม

 

พบกันได้ที่ นิทรรศการ ‘กินอะไรดี’ (What the Food) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 10 กรกฎาคม 2565 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 6 โซน Central Court ในเวลา 10.00 –  21.00 น.

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

โทร. 02 343 1500 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.resourcecenter.thaihealth.or.th

และทางเฟซบุ๊ก ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.