Highlight
|
เมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัย ชีวิตจะต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งการสูญเสียและความท้าทายใหม่ ๆ ดังนั้น การรักษาความสมดุลจึงเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ แต่กระนั้นเมื่อผ่านช่วงอายุที่มากขึ้นเรื่อย ๆ คนสูงวัยมักไม่ได้ตระหนักว่า แท้จริงพวกเขายังแข็งแกร่งและยืดหยุ่นมากกว่าที่คิด และควรปฏิบัติตามข้อแนะนำ ดังนี้
1. เรียนรู้ที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
เมื่อต้องเผชิญการสูญเสียผู้คนหรือสิ่งของไป เราต้องยอมรับมัน และแสดงความรู้สึกนั้นออกมา เพราะการเก็บซ่อนความรู้สึกเอาไว้อาจนำไปสู่ความโกรธ ความไม่พอใจ และภาวะซึมเศร้า ข้อแนะนำก็คือควรพูดคุยกับเพื่อนสนิทหรือเขียนบันทึก และต้องยอมรับว่าหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตอยู่เหนือการควบคุมของเรา ดังนั้น แทนที่จะเครียดกับความเปลี่ยนแปลงก็ให้เพ่งมองไปในสิ่งที่เราควบคุมได้ และเชื่อมั่นว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอ
นอกจากนั้นแล้ว เมื่อเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ พยายามมองว่ามันเป็นโอกาสในการเติบโตของตัวเราเอง พร้อมกับเตรียมรับความท้าทายในชีวิตให้ค่อย ๆ ลงมือทีละเล็กทีละน้อย เพราะแม้แต่การทำทีละน้อย ๆ ก็ช่วยเพิ่มความมั่นใจและย้ำเตือนว่าเราไม่ได้ไร้พลัง สิ่งที่สำคัญก็คือต้องรักษาสุขภาพด้วยอารมณ์ขัน เสียงหัวเราะ และการเล่นสนุก เพราะการหัวเราะเป็นยาชั้นเลิศทั้งต่อร่างกายและจิตใจที่ช่วยให้เรามีความสมดุล มีพลัง มีความสุข และมีสุขภาพที่ดี
2. ค้นหาความหมายและความสุข
เมื่ออายุมากขึ้นสิ่งที่เคยทำให้ชีวิตมีจุดมุ่งหมายก็อาจจะหายไป เช่น ไม่ได้ทำงานหลังเกษียณ หรือครอบครัวแยกย้าย หรือเพื่อน ๆ ล้มหายตายจากไป แต่ถ้าปล่อยวางได้มันจะเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นไปอีกแบบสำหรับความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำมาก่อน เป็นต้นว่าเข้าร่วมชมรมหรือทีมกีฬาเป็นงานอดิเรกใหม่ ๆ ซึ่งทำให้เราเข้าสังคมได้เพื่อนใหม่ไปพร้อมกัน หรืออาจทำกิจกรรมเพียงลำพัง เช่น เล่นดนตรี ฝึกภาษาต่างประเทศ หรือเล่นเกมใหม่ ๆ กิจกรรมพวกนี้ยังช่วยรักษาสุขภาพสมองและป้องกันภาวะจิตตกได้อีกด้วย อีกวิธีก็คือ ลองเข้าร่วมกิจกรรมในท้องถิ่นหรือเป็นอาสาสมัครเพื่อการกุศล เพราะการช่วยเหลือผู้อื่นจะเพิ่มคุณค่าของชีวิต ตลอดจนสามารถเปิดโลกด้วยการเดินทางไปท่องเที่ยวสถานที่ใหม่ ๆ หรืออาจจะเขียนบันทึกความทรงจำ หรือนิยายที่เกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา เพราะวัยนี้เป็นวัยที่เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ล้ำค่าที่ควรค่าแก่การส่งต่อไปยังคนอื่น
3. เชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ อยู่เสมอ
หนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของภาวะสูงวัย คือการรักษาเครือข่ายคนรู้จักและสิ่งต่าง ๆ ที่ช่วยสนับสนุนเรา เพราะยิ่งสูงวัย เรายิ่งห่างเหินจากผู้คนและต้องพบกับความสูญเสียคนที่เคยรู้จักมักคุ้นไป ดังนั้น อย่าละเลยการเข้าสังคม เพราะมันมีผลดีต่อสุขภาพ การพบปะกับผู้คนจะช่วยป้องกันความเหงา ความหดหู่ ตลอดจนความยากลำบากในชีวิตด้านอื่น ๆ ดังนั้น ให้ติดต่อกับเพื่อนและครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ ใช้เวลากับคนที่ชื่นชอบและคนที่ทำให้เรารู้สึกเบิกบาน รวมถึงเพื่อนบ้านและลูกหลานที่อาจติดต่อกันทางโทรศัพท์หรือสื่อสังคมออนไลน์ และพยายามสร้างเพื่อนใหม่ โดยเฉพาะกับเพื่อนที่อายุน้อยกว่า เพราะพวกเขาสามารถเติมพลังและช่วยให้เรามองเห็นชีวิตจากมุมมองใหม่ๆ
เคล็ดลับอีกอย่างคือ ใช้เวลากับคนอย่างน้อยหนึ่งคนทุกวัน การพบหน้ากับคนอื่นจะช่วยลดความเหงาและความโดดเดี่ยวได้ และการเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครตัวแทนชุมชน ซึ่งเป็นวิธีที่ดีเลิศในการกระชับสายสัมพันธ์ทางสังคมและพบปะผู้อื่นที่มีความสนใจในกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน ตลอดจนยังอุทิศตนให้กับสังคมไปด้วยในตัว แต่หากเราหรือคนที่เรารักกำลังเผชิญกับโรคร้ายแรงหรือการสูญเสีย ควรมองหากลุ่มที่สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในลักษณะคล้ายๆ กัน เพื่อแบ่งปันความรู้สึกและระบายความในใจ
4. ตื่นตัวและมีชีวิตชีวาให้มากขึ้น
อายุที่สูงขึ้นไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้เราเหี่ยวเฉาเสมอไป แต่สามารถเอาชนะหรือบรรเทาลงได้อย่างมากโดยการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่เหมาะสม และการดูแลตัวเอง ซึ่งจากการศึกษาในประเทศสวีเดนเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า การออกกำลังกายเป็นตัวช่วยอันดับหนึ่งในการทำให้มีอายุที่ยืนยาว แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจะไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนก็ตาม
เคล็ดลับการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงวัย
การกินดี
นอนหลับให้เพียงพอ
5. รักษาสมองให้เฉียบแหลม
การกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์สามารถช่วยป้องกันความเสื่อมทางสติปัญญาและปัญหาความจำได้ ยิ่งเราใช้และลับสมองมากเท่าไรก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น อาจเป็นการเล่นเกมหรือกีฬาใหม่ ๆ หรือการไขปริศนาหรือลองทำอาหารสูตรใหม่ ๆ เรียนภาษา พัฒนาทักษะคอมพิวเตอร์ หรือเรียนการเล่นเครื่องดนตรี ตลอดจนการทำเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การลองใช้เส้นทางอื่นไปทำงาน หรือไปร้านขายของชำ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนิสัยของเราสามารถช่วยสร้างวงจรใหม่ ๆ ในสมองได้เช่นเดียวกัน
เรียบเรียงจาก: https://www.helpguide.org/articles/alzheimers-dementia-aging/staying-healthy-as-you-age.htm