ADVANCESEARCH

How to สู้ฝุ่น PM2.5 รู้ก่อน...ปลอดภัยกว่า

24.03.2566
802
Share

สถานการณ์มลภาวะทางอากาศที่เราต้องเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้ ยังคงเป็นสภาวะที่เต็มไปด้วยฝุ่นควันและไรฝุ่นพิษ โดยเฉพาะเจ้าฝุ่นจิ๋วตัวฉกาจอย่างฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทย รวมทั้งเป็นสาเหตุของโรคภัยต่าง ๆ ที่แสดงอาการทั้งภายนอกร่างกาย ไปจนถึงเกิดสะสมอยู่ภายในร่างกาย สามารถพัฒนากลายเป็นโรคทางเดินหายใจที่รุนแรงได้ ฉะนั้นจะดีกว่าไหม..ถ้าเราสามารถเรียนรู้และวางแผนรับมือเพื่อสู้กับฝุ่น PM2.5 ให้ปลอดภัยจากความเสี่ยงที่เกิดจากฝุ่นพิษนี้

ฝุ่น PM2.5

ฝุ่น PM2.5 มาจากไหน?

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าฝุ่น PM2.5 ที่ลอยปะปนอยู่ในอากาศนั้น เกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

ลักษณะภูมิประเทศที่ไม่สามารถกำหนดได้ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่แอ่งกระทะ มีภูเขาโอบล้อม รวมถึงพื้นที่หุบเขาที่ส่งผลให้ฝุ่น PM2.5 ถูกกักเก็บไว้และไม่สามารถถ่ายเทออกไปได้ นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน (Temperature Inversion) เป็นปรากฏการณ์สลับของอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศ เกิดเป็นเพดานกันฝุ่นละอองและไม่สามารถระบายอากาศได้ ฝุ่น PM2.5 จึงยังลอยปะปนอยู่ในอากาศที่เราใช้หายใจ

ปัจจัยที่ควบคุมได้

กิจกรรมของมนุษย์ ทั้งจากการเผาเศษพืชหรือวัสดุการเกษตร การเผาขยะมูลฝอย การเผาไหมเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงมลพิษจากการคมนาคมที่ก่อให้เกิดการสะสมควันเสียจากรถยนต์ ซึ่งการเผาไหม้ในรถยนต์ดีเซลนั้นก่อทั้งก๊าซพิษ และยังเป็นแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 57%สอดคล้องกับข้อมูลของ ThaiHealth WATCH 2021 ระบุว่าแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มาจากไอเสียของรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลมากถึง 52%

อันตรายจากฝุ่น PM2.5

ฝุ่น PM2.5 ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร?

ด้วยขนาดของฝุ่น PM2.5 ที่เล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือเล็กกว่าเส้นผมคนเราถึง 20-28 เท่า จึงสามารถเล็ดลอดการดักจับของขนจมูกผ่านเข้าไปสู่ผนังปอดและซึมเข้าสู่กระแสเลือด เกิดการสะสมจนสร้างผลกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย โดยสามารถแบ่งอาการออกเป็น 2 แบบ คือ อาการแบบ ฉับพลัน เป็นอาการที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน เช่น รู้สึกระคายเคืองผิวหนัง แสบตา ไอ เจ็บคอ หายใจติดขัด เลือดกำเดาไหล เป็นต้น ในส่วนของอาการแบบ เรื้อรัง’ จะเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อต้องอยู่ภายในสภาพแวดล้อมอากาศเป็นพิษ มีการสะสมของฝุ่น PM2.5 เป็นเวลานานก็จะเกิดปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เริ่มตั้งแต่ระบบทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับปอด โรคปอดอักเสบ โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืดที่รุนแรงขึ้น และยังกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิต เช่น โรคหลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดไปเลี้ยงสมองเสื่อม เป็นต้น

วิธีป้องกัน PM2.5

How to สู้ฝุ่น PM2.5 ที่เราออกแบบได้

ถึงแม้ว่าฝุ่น PM2.5 จะก่อทั้งอันตรายต่อสุขภาพและความเสี่ยงเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ มากมาย แต่เราทุกคนก็ยังสามารถออกแบบวิธีป้องกันฝุ่น PM2.5 เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้เหลือน้อยที่สุด โดยวิธีป้องกันต่าง ๆ ที่จะนำมาแนะนำเป็นแนวทาง มีดังนี้

หมั่นเช็กค่าฝุ่น PM2.5 ก่อนออกกลางแจ้ง

หากเราจำเป็นต้องออกไปเผชิญฝุ่น PM2.5 อย่างเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรเช็กค่าฝุ่นก่อนเพื่อให้สามารถเตรียมตัวป้องกันตนเองได้อย่างเหมาะสม เช่น สวมหน้ากากมาตรฐาน N95 เป็นต้น ซึ่งค่าฝุ่น PM2.5 จะแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ตามค่าเฉลี่ยของปริมาณฝุ่นในเวลา 24 ชม. (หน่วยเป็นไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ได้แก่

ระดับที่ 1 0-25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

  • ไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย หรือมีผลกระทบน้อยมาก
  • สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ

ระดับที่ 2 26-37 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

  • มีผลกระทบต่อสุขภาพเล็กน้อย-ปานกลาง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เป็นเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว
  • ยังสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ

ระดับที่ 3 38-50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

  • มีผลกระทบต่อสุขภาพปานกลาง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน
  • ควรลดระยะเวลาทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง

ระดับที่ 4 51-90 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

  • มีผลกระทบต่อร่างกายค่อนข้างมาก
  • ควรลดระยะเวลาและจำกัดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

ระดับที่ 5 มากกว่า 91 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

  • มีผลกระทบต่อร่างกายเป็นอย่างมาก
  • เลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

 

งดเผา งดสร้างฝุ่น PM2.5

ข้อมูลใน ThaiHealth WATCH 2021 ระบุว่าหนึ่งในแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 คือเกิดจากการเผาในพื้นที่โล่งแจ้งของภาคการเกษตรและป่าไม้ รวมถึงกิจกรรมการเผาต่าง ๆ เช่น เผาใบไม้ เผาขยะ ดังนั้นการงดเว้นกิจกรรมการเผาเหล่านี้ก็จะเป็นอีกแนวทางในการลดปริมาณฝุ่นที่อาจไปสะสมอยู่ในอากาศนั่นเอง

 

ปลูกต้นไม้ เครื่องฟอกอากาศจากธรรมชาติ

การปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้าน นอกจากจะเพิ่มความร่มรื่นแล้ว ยังเปรียบเสมือนเป็นการเปิดเครื่องฟอกอากาศธรรมชาติ คอยดักจับฝุ่น PM2.5 ช่วยเพิ่มอากาศสะอาดให้กับเราได้

 

หันมาใช้ขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในเขตเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ มีแหล่งกำเนิดส่วนใหญ่จากไอเสียของรถยนต์จากการจราจรในชีวิตประจำวัน ฉะนั้นหากปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ด้วยการใช้ขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในการลดฝุ่นพิษ

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากฝุ่น PM2.5 เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสามารถก่ออันตราย และกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของเราเป็นอย่างมาก วิธีป้องกันที่แนะนำไว้ข้างต้นจึงเป็นอีกแนวทางในการนำไปปรับใช้ เพื่อป้องกันตนเองจากฝุ่นพิษในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตามปัญหาฝุ่น PM2.5 ก็ยังเป็นสิ่งที่ภาครัฐและส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไข เพื่อฟื้นฟูให้อากาศบริสุทธิ์อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

 

 

ที่มา:

(1) ThaiHealth WATCH 2021
https://resourcecenter.thaihealth.or.th/article/thaihealth-watch-จับตาทิศทางสุขภาพคนไทยปี-2564

(2) https://resourcecenter.thaihealth.or.th/media/ozKk

(3) https://resourcecenter.thaihealth.or.th/media/mQWA

(4) https://resourcecenter.thaihealth.or.th/article/ปัจจัยกระตุ้นปัญหาฝุ่น

(5) https://resourcecenter.thaihealth.or.th/article/ pm-2-5-ฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว-ที่สร้างผลกระทบแบบไม่จิ๋ว

Selected For You

Related

Most View

Recommend